รายละเอียด
- เติบใหญ่ใต้ร่มพระบารมี ฟังคำบอกเล่าจากอากงชาวเยาวราช เพื่อทำความรู้จักเบื้องต้นกับชุมชนชาวจีนสำเพ็งและเยาวราช
- กำเนิดชุมชนจีนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2325 – 2394) จุดกำเนิดของชุมชนจีน-สำเพ็ง และการเข้ามาของชาวจีนโพ้นทะเลในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1-3 จนกระทั่งกลายเป็นย่านการค้าที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ
- เส้นทางสู่ยุคทอง (พ.ศ. 2394 – 2500) พัฒนาการของชุมชนจีนจากตลาดสำเพ็งสู่ความเป็นย่านธุรกิจสมัยใหม่บนถนนเยาวราช เรื่องราววิถีชีวิตที่ช่วยให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อวิถีทางสังคมของชาวเยาวราชในยุคนั้น
- ตำนานชีวิต Hall of Fame ประกอบวีดิทัศน์แสดงตำนานชีวิตของบุคคลชาวเยาวราชที่เป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้แก่อนุชนรุ่นหลัง
- พระบารมีปกเกล้าฯ แกลเลอรี่ภาพถ่ายและวีดิทัศน์ แสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ พระบรมวงศานุวงศ์ ในรัชกาลปัจจุบันต่อชุมชนเยาวราช
- ไชน่าทาวน์วันนี้ ภาพลักษณ์อันโดดเด่นในแง่มุมของเยาวราชที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ไชน่าทาวน์’ ของประเทศไทย
นอกจากจุดชมนิทรรศการที่สวยงามทันสมัยดังกล่าวแล้ว ภายในวัดไตรมิตรวิทยาราม ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ล้ำค่าที่ซึ่งชาวไทยเชื้อสายจีนจากทั่วประเทศมักหาโอกาสมากราบไหว้ขอพรอย่างสม่ำเสมอ นั่นคือ “พระพุทธมหาสุวรรณปฎิมากร” หรือที่ชาวบ้านเรียกติดปากกันว่า “หลวงพ่อทองคำ” ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางพุทธปฏิมากรรมล้วนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า พระพุทธรูปองค์นี้มีความงดงามถึงจุดสุดยอดในกระบวนฝีมือสกุลช่างสุโขทัย และนับเป็นพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกมีมูลค่าเฉพาะเนื้อทองคำสูงถึง 21.1 ล้านปอนด์
สามารถเดินทางไป ชมศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช และกราบสักการะหลวงพ่อทองคำ เพื่อความเป็นสิริมงคลได้ทุกวันที่ วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เลขที่ 661 ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100 หรือค้นหารายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติมได้ทางเวบไซต์ www.wattraimitr-withayaram.com
รู้ก่อนเที่ยว ‘พิพิธภัณฑ์วัดไตรมิตร (ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช)’
เปิดให้เข้าชมทุกวัน คนไทยฟรี ชาวต่างชาติคนละ 140 บาท
ข้อควรปฏิบัติในการเข้าสู่บริเวณวัดและพระมหามณฑป
- แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย ควรสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว หากสวมกระโปรงไม่ควรสวมกระโปรงสั้นเหนือเข่า
- พึงสำรวมกิริยามารยาทเมื่อเข้าภายในวัด
- ไม่ทำลายทรัพย์สินของวัด
- รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในวัด